14 กรกฎาคม 2552

กุ้งกุลาดำ



อนุกรมวิธานของกุ้งกุลาดำ (Farfanate และ Kensley, 1997)

ชื่อไทย : กุ้งกุลาดำ กุ้งกุลา กุ้งกะลา กุ้งเสือดำ กุ้งเสือ กุ้งลาย
ชื่อภาษาอังกฤษ : Giant tiger prawn
ชื่อวิทยาศาสตร์ :enaeus monodon fabricius, 1798

ลักษณะทั่วไป
เป็นกุ้งทะเล ลำตัวสีแดงอมน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม มีลายพาดขวางที่หลังประมาณ 9 ลายและสีออกน้ำตาล เข้มข้างแถบสีขาว ด้านบนของกรีมีฟัน 7-8 ซี่ ด้านล่างมี 3 ซี่ สันกรียาวเกือบถึงคาราเปสมีสันตับ(hepatic crest)ยาวตรงขนานไปกับลำตัว หนวดยาวไม่มีลายชัดเจน ขาเดินมีสีแดงปนดำ ขาว่ายน้ำมีสีน้ำตาลปนน้ำเงิน โคนสีขาว ขาเดินคู่ที่ห้าไม่มี exopod ขนาดความยาวประมาณ18-25 ซ.ม.

การสืบพันธุ์
กุ้งมีอวัยวะเพศภายนอกมองเห็นได้ชัดเจน และสามารถใช้ลักษณะความแตกต่างของ อวัยวะเพศในการจำแนกชนิดได้ อวัยวะเพศผู้เรียกว่า พีแตสม่า (petasma) เกิดจากการเปลี่ยนแปลง แขนงอันในของขาว่ายน้ำคู่แรกทั้ง 2 ข้างเชื่อมติดกันเพื่อทำหน้าที่เป็นอวัยวะเพศผู้ ส่วนอวัยวะเพศเมีย เรียกว่า ทีไลคัม (thelycum) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงผนังด้านท้อง (sternal plate) ของรยางค์ส่วนอก ปล้องที่ 7 และ 8 หรือตรงกับขาเดินคู่ที่ 4-5 พัฒนามาเป็นถุงสำหรับรับน้ำเชื้อ
วัยเจริญพันธุ์ (maturation) หมายถึง รังไข่หรืออวัยวะที่ใช้ในการผสมพันธุ์พัฒนาเต็มที่ ในการผลิตไข่ (egg) หรือน้ำเชื้อ (sperm) พร้อมที่จะผสมพันธุ์โดยใช้อวัยวะภายนอก เมื่อลอกคราบ เพื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์อวัยวะเพศทั้ง 2 เพศ เจริญดีแล้วการผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ตัวเมีย ลอกคราบใหม่ ซึ่งแหล่งที่มาของพ่อแม่พันธุ์ส่วนใหญ่จะได้มาจากการจับจากทะเลหรือบ่อเลี้ยง

การวางไข่ของกุ้งกุลาดำ (ในบ่อเพาะพันธุ์)
แม่กุ้งกุลาดำที่มีไข่แก่จะถูกแยกออกมาปล่อยลงในถังวางไข่ขนาด 200 ลิตร ถังละ 1 ตัว ก่อนปล่อยกุ้งลงถังเพื่อป้องกันเชื้อโรคจะติดมากับแม่กุ้งอาจจะนำแม่กุ้งไปแช่ใน ฟอร์มาลีน เข้มข้น 150 ppm. ประมาณ 10-15 นาที หรือแช่ยาปฏิชีวนะ น้ำทะเลในถังวางไข่เป็นน้ำที่มีความเค็ม 30 ppt. ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนมาแล้ว ภายในถังมีอากาศเป่าอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้น้ำเกิดการหมุนเวียน เป็นการให้ออกซิเจนในเวลากลางคืน ขณะที่กุ้งวางไข่มันจะว่ายไปรอบๆ ถังขณะเดียวกันก็จะปล่อยน้ำเชื้อ ออกมาผสมกับไข่ในน้ำ เป็นการผสมกันภายนอกการวางไข่และปล่อยน้ำเชื้อตัวผู้จะใช้เวลา 2-7 นาที ในตอนเช้าจะทำการตรวจดูว่ากุ้งวางไข่หรือไม่ โดยสังเกตจากคราบไขมันที่เกาะอยู่ตามขอบถังวางไข่ มีลักษณะสีชมพูหรือสีส้ม เมื่อกุ้งวางไข่แล้วนำกุ้งขึ้นจากถังวางไข่แล้วปล่อยคืนกลับบ่อเลี้ยง โดยปกต ิแม่กุ้งจะวางไข่ประมาณ 300,000 ฟอง

การฟักไข่ของกุ้งกุลาดำ
ก่อนที่จะรวบรวมไข่กุ้งไปฟักในถังฟักไข่ ควรตรวจสอบดูว่าไข่กุ้งได้รับการผสมพันธุ์มากน้อย เพียงใด จากนั้นนำไข่ที่ได้ไปล้างน้ำเพื่อกำจัดคราบไขมันออก แล้วย้ายไปใส่ในถังฟัก ลูกกุ้งจะฟักออก เป็นตัวหลังจากวางไข่ได้ 15-18 ชั่วโมงซึ่งขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ

วงจรชีวิต
ไข่ จะฟักเป็นตัวอ่อนระยะนอเพียส ภายใน 12 ชม. หลังได้รับการปฏิสนธิระยะนอเพียส (Nauplius) มีขนาด 0.3-0.33 มม. ยังไม่กินอาหาร ดำรงชีวิตแบบแพลงก์ตอน ประมาณ 2 วัน ระยะนี้จะมีการลอกคราบ 6 ครั้งสิ้นสุดระยะนอเพลียสจะมีขนาดประมาณ 0.6 มม. จะเจริญเข้าสู่ระยะ โปรโตซูเอีย (Protozuea)มีขนาด 1-3.3 มม.กินแพลงตอนพืชเป็นอาหาร ลอกคราบ 3 ครั้ง ใช้เวลา 3-4 วัน จะเจริญเข้าสู่ระยะไมสีส(Mysis) ขนาดประมาณ 3.3-5 ซม. กินแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหาร ใช้เวลา 3-4 วันจะเข้าสู่ระยะโพสลาวา (Postlarva) หรือที่นิยมเรียกว่า P1 ระยะนี้จะเรียกตามจำนวนวันที่กุ้งเติบโต เช่น P10 คือกุ้งในระยะนี้อายุ 10 วัน จนวันที่ 20 กุ้งจะมีขนาด 2-3 ซม. จะเข้าสู่ระยะจูเวนไนล์ (Juvenile) มีลักษณะต่างๆ สมบูรณ์เหมือนตัวเต็มวัย แต่ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ จนเข้าสู่ระยะเจริญพันธุ์ และใช้เวลา 10 เดือนจะเป็นตัวเต็มวัย
ถิ่นอาศัย
พบได้ทั่วไปในทวีเอเซีย ในประเทศไทยพบแพร่กระจายทั่วไป พบมากบริเวณเกาะช้างบริเวณนอกฝั่งชุมพร ถึงนครศรีธรรมราช และทางฝั่งอันดามันจะพบมากที่ภูเก็ต ระนอง ชอบอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีดินเป็นทรายปนโคลน หรือทรายปนเลือกหอยและหินประการัง สามาถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี อดทน โตเร็ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม